นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกในการชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งมีกำหนดชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนอยู่หลากหลายช่องทางหลายวิธีด้วยกัน เช่น จ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ห
รือหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ได้แก่
1) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 2) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 4) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) 6) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ7) ธนาคารออมสิน
หรือชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารหรือหน่วยบริการ ได้แก่
1) เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 2) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3) ไปรษณีย์ทุกสาขาทั่วประเทศ 4) เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-Eleven) 5) เคาน์เตอร์ CenPay Powered By บุญเติม 6) เคาน์เตอร์ บุญเติม Bill Payment 7) เคาน์เตอร์เทสโกโลตัส 8) จ่ายเป็นธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์
วิธีจ่ายเงินสมทบหักบัญชีธนาคารมากที่สุด
ล่าสุดตัวเลขผู้ประกันตนมาตรา 39 เลือกวิธีการชำระเงินสมทบผ่านทุกช่องทางสะดวกที่สำนักงานประกันสังคมจัดไว้คอยให้บริการมีจำนวน 1,722,772 คน โดยผู้ประกันตนเลือกวิธีการจ่ายเงินสมทบมากที่สุด อันดับที่ 1 คือ หักบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 869,454 คน รองลงมา อันดับที่ 2 ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารและหน่วยบริการ จำนวน 800,555 คน อันดับที่ 3 จ่ายเงินสมทบ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา จำนวน 52,763 คน
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า การที่ผู้ประกันตนเลือกวิธีจ่ายเงินสมทบโดยการหักบัญชีเงินฝากธนาคารแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในระบบการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อกับสำนักงานประกันสังคม โดยร่วมกับธนาคารฯ ในความตกลง มีขั้นตอนเพียงผู้ประกันตนยื่นหนังสือยินยอมการหักบัญชีเงินฝากธนาคารที่ธนาคารสาขาที่เปิดบัญชีไว้ โดยผู้ประกันตนนำสำเนาหนังสือยินยอมฯ ที่เจ้าหน้าที่ธนาคารได้รับรองลายมือชื่อแล้ว พร้อมแบบคำขอส่งเงินสมทบและสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ประกันตน มายื่น ณ สำนักงานประกันสังคมที่ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนไว้
นายบุญสงค์ เลขาธิการ สปส. กล่าวย้ำถึงการส่งเงินสมทบของ ผู้ประกันตน ม.39 ว่า “เนื่องจากธนาคารจะตัดบัญชีวันที่ 15 ของทุกเดือน ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนนำเงินเข้าบัญชีให้เพียงพอ จำนวน 432 บาท และนำฝากก่อนวันที่ธนาคารจะตัดเงินในบัญชี และหากเดือนใด วันที่ 15 ตรงกับวันหยุดธนาคารจะเลื่อนหักบัญชีในวันทำการถัดไป ทั้งนี้ ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น”
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันผู้ประกันตน ม.39 สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน จึงขอความร่วมมือผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เป็นปัจจุบัน เพื่อรับข้อความ SMS แจ้งการหักบัญชีเงินฝากธนาคารสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกันสังคม คืออะไร
ประกันสังคม คือสวัสดิการที่ทางรัฐมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้าง และนายจ้างมีหน้าที่ต้องทำการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจำนวนเงินที่นำส่งนั้นจะทำการคำนวณและหักจากฐานเงินเดือนของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป โดยอัตราการหักนั้นจะอยู่ที่ 5% แต่สูงสุดต้องไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน
ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการของคนทำงาน ที่จะสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่มีรายได้ให้ดีขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นระบบประกันสังคมนั้นมีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยนั้นถูกนำมาใช้เมื่อปี พ.ศ. 2480 และมีเพื่อให้บริการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 เพื่อคุ้มครองลูกจ้างจากการเจ็บป่วย ทั้งที่เกิดขึ้นจากการทำงาน และนอกเหนือจากการทำงาน
ผู้ประกันตนคือใคร
ผู้ประกันตนก็คือลูกจ้าง หรือพนักงานที่ได้จ่ายค่าประกันสังคมทุกๆ เดือน โดยผู้ประกันตนจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ
- ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือก็คือผู้ประตนที่เป็นลูกจ้าง พนักงานประจำ ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- ผู้ประกันตนที่สมัครใจตามมาตรา 39 หรือก็คือบุคคลที่เลิกเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างที่ลาออกจากงาน ลูกจ้างที่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาไม่ต่ำกว่า 12 เดือนแล้วลาออกมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ซึ่งหากต้องการเป็นผู้ประกันตนต่อหลังจากลาออกจากงาน ผู้ประกันตนก็สามารถทำการแจ้งได้ภายใน 6 เดือนหลังมีการแจ้งออกจากงาน โดยจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
- ผู้ประกันตนที่เป็นอิสระ ตามมาตรา 40 หรือก็คือบุคคลที่มีอายุ 15 – 60 ปี ที่ทำงานอิสระไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน
เหตุผลที่ต้องจ่ายประกันสังคมทุกเดือน
ประกันสังคมคือหลักประกันในการดำเนินชีวิตของคนทำงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และตาย จะเข้ามาดูแลและการทดแทนรายได้ เมื่อผู้ประกันตนต้องการพบแพทย์ยามป่วยไข้ หรือมีเหตุการณ์ที่ตรงตามข้อกำหนดในการใช้สิทธิประกันสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องของค่าใช้จ่าย